เหตุผลที่ต้องไหว้เจ้า 8แห่ง เพราะว่าเลข 8 หรือที่อ่านตามภาษาจีนว่า “ฝาด” นั้น หมายถึงความร่ำรวย มั่งคั่ง แบบเดียวกับที่คนไทยชอบเลข 9เป็นพิเศษเพราะออกเสียงตรงกับคำว่า ก้าวหน้า
เริ่มต้นกันที่ “วัดมังกรกมลาวาส” หรือชื่อจีนว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” วัดจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดในเยาวราช ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ตรงกันข้ามกับตลาดเยาวราช วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2414 โดยพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (สกเห็ง) ภายในวัดนี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสีทองแบบจีน มีวิหารอยู่ด้านหน้า ประดิษฐานรูปท้าวจตุโลกบาลเป็นรูปหล่อเขียนสี แต่งกายแบบนักรบจีน และยังมีรูปปั้นของเทพเจ้าตามความเชื่อในลัทธิเต๋าและเทพเจ้าพื้นเมืองอื่นๆ ของจีน นอกจากนั้นยังมีวิหารอีก 3 หลัง คือวิหารอวโลกิเตศวร ประดิษฐานรูปเจ้าแม่กวนอิม วิหารปฐมบูรพาจารย์ ประดิษฐานรูปเหมือนของพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร และวิหารสังฆปรินายก ประดิษฐานเซียนหลักโจ้ว ซึ่งเป็นหมู่เทพซึ่งเชื่อกันว่าจะให้ความคุ้มครอง ช่วยในเรื่องสุขภาพ การค้า และความรักได้ด้วย
จากวัดมังกรฯ เดินไปในตลาดเยาวราชเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังตรอกเล็กๆ ที่ชื่อว่าตรอกอิสรานุภาพ เพื่อไปยังศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี้ย ศาลเจ้าที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในเยาวราช ตามประวัติศาลเจ้านี้สร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2201 หรือตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีเทพเจ้าเล่งบ้วยเอี้ย เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนทั้งหลาย ที่นี่คน นำผ้าแดงเขียนชื่อ-นามสกุล หรือสิ่งที่ต้องการขอ แล้วจึงนำไปผูกไว้ขาโต๊ะบูชา เพื่อเป็นการฝากตัวเองหรือญาติมิตรไว้ให้เทพเจ้าเล่งบ้วยเอี้ยคุ้มครองดูแล
จูดต่อไปคือตลาดเก่าเยาวราชเพื่อไปไหว้ศาลเจ้าพ่อกวนอูและเทพเจ้าม้า เทพเจ้ากวนอูนั้นเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรม ปัญญา และสัจจะ ส่วนเทพเจ้าม้านั้นก็มีคนนิยมมาไหว้เพื่อขอให้ท่านช่วยในเรื่องของหน้าที่การงาน เชื่อว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคนและมีลูกน้องบริวารที่ดี คนที่มาไหว้เทพเจ้าม้านี้ก็จะไหว้ผักสด เช่นผักกาดหรือผักบุ้ง
ต่อด้วยศาลเจ้าแห่งที่สี่ ที่วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่ง ฮก ยี่) ซึ่งเป็นวัดที่เล็กที่สุดที่อยู่ในเยาวราช อยู่ในตรอกเต๊า มีพื้นที่เท่าๆ กับตึกแถวเพียงห้องเดียวเท่านั้น วัดแห่งนี้เคยเป็นศาลเจ้าร้างมาก่อน ต่อมาได้มีพระจากเวียดนามมาบูรณะจนกลายเป็นวัดบำเพ็ญจีนพรต และได้รับป้ายนามพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่พระพุทธรูป และพระอรหันต์สิบแปดองค์ที่ทำจากกระดาษ หรือที่เรียกว่า เปเปอร์มาเช่ แต่ดูสวยงามไม่แพ้พระพุทธรูปหล่อ หรือปูนปั้นเลย
ต่อกันที่มูลนิธิเทียนฟ้า ไม่ไกลจากซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิแห่งนี้เป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมอบทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมตู้เก็บพระไตรปิฎก บทสวดมนต์ 2 ตู้ให้กับมูลนิธิแห่งนี้ และปัจจุบันตู้ก็ยังคงตั้งอยู่ 2 ข้างขององค์เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพร แกะสลักจากไม้เนื้อหอมแล้วลงรักปิดทอง รูปร่างกำยำล่ำสัน ซึ่งมีประวัติเล่าว่า จริงๆ แล้วท่านเป็นผู้ชาย แต่ไม่สามารถช่วยเหลือสตรีได้ จึงเนรมิตกายเป็นผู้หญิง ผู้ที่มาไหว้มักขอพรให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน
ต่อไปยังถนนทรงวาด มีศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนแต้จิ๋วอายุ 200 กว่าปี ที่เมื่อมีงานเทศกาลหรืองานสารท ก็จะมีผู้คนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้ท่าน เชื่อว่าหากได้สักการะแล้วจะเหมือนมีผู้คอยดูแลทุกข์สุขให้ โดยในอดีตนั้นเรือสำเภาที่มาจากเมืองจีนก่อนจะมาขึ้นที่ท่าเรือตรงนี้จะต้องจุดประทัดบูชาเทพเจ้าเสียก่อน
จากนั้นไปไหว้ศาลเจ้าโจวซือกง ย่านตลาดน้อย เทพเจ้าองค์สำคัญของชาวจีนฮกเกี้ยน และเป็นเทพแห่งหมอยาด้วย รูปปั้นของเทพเจ้าองค์นี้มีลักษณะที่ผิดแปลกจากรูปปั้นอื่น เพราะมีลักษณะสีดำทั้งองค์ ผู้คนนิยมมาไหว้ท่านเพราะมีความเชื่อกันว่าถ้าได้มาไหว้เทพองค์นี้แล้วจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
และศาลเจ้าแห่งที่แปด ที่สุดท้ายที่ควรไปไหว้กันคือ “ศาลเจ้าไต้ฮงกง” ที่อยู่ตรงกันข้ามกับสถานีตำรวจพลับพลาชัย ศาลเจ้าไต้ฮงกงหรือที่รู้จักกันดีในนามของ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เป็นอีกที่ที่มีผู้คนมาทำบุญสะเดาะเคราะห์และต่อดวงชะตาด้วยการบริจาคซื้อโลงศพกันมาก แต่ก่อนที่จะไปทำบุญก็ต้องมากราบไหว้เจ้าไต้ฮงกงกันก่อน ซึ่งตามประวัติท่านเป็นนักบวชที่กลายเป็นเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก