ศาลหลักเมือง นี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน จากคำบอกเล่าและสันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ใกล้เคียงกับวัดใหญ่อินทารามกับศาลาฟังธรรม ทั้งสามนี้ ได้ขึ้นบัญชีเป็นศิลปกรรมโบราณสถานของจังหวัดชลบุรี
ในสมัยก่อน ตำบลบางปลาสร้อย เป็นตำบลที่มีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่นกว่าชุมชนในตำบลอื่น ๆ ในจังหวัดชลบุรี มีตลาดการค้าใหญ่ เรียกกันว่า ท่าเกวียน ซึ่งอยู่ระหว่างวัดใหญ่อินทารามกับวัดต้นสน และศาลาฟังธรรม ชาวป่า ชาวไร่ ชาวสวน จะนำผลผลิตของตนใส่เกวียนมาลงขายที่ตลาดนี้ แล้วก็ซื้อสิ่งของที่ต้องการกลับไป ที่นี่จึงเป็นที่นัดพบของผู้มีเกวียน มีควาย จึงเป็นจุดที่ก่อให้เกิดประเพณีวิ่งควาย ครั้งแรกของจังหวัดชลบุรี ผลิตผลที่นำมาขายนี้ พ่อค้าก็ซื้อนำใส่เรือ (เรือใบ เรือแจว) ไปขายยังต่างจังหวัดต่อไป
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่เชิงสะพานยาว หันหน้าศาลลงทะเล ข้างศาลจะมีต้นโพธิ์ใหญ่ ๑ ต้น หลังศาลฯ จะมีบ่อน้ำ ๑ บ่อ ชาวบ้านเรียกกันว่าบ่อศาลเจ้า หน้าศาลจะมีสะพาน พุ่งตรงไปทะเล สะพานนี้มีชื่อว่าสะพานยาว สะพานนี้ยาวกว่าสะพานอื่น ๆ ในสมัยนั้น จึงเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าติดต่อไปมากับต่างจังหวัดอีกด้วย ต่อมาสะพานได้ถูกรื้อถอนไป กลายเป็นซอยมีชื่อใหม่ว่า ซอยฑีฆามารค ซึ่งแปลว่า ทางยาว ความหมายเหมือนเดิม
เดิมศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี นี้จะมีงานประจำปี ประเพณีการกองข้าว เข้าทรงในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ วัน ตอนเย็นมีการเข้าทรงทำพีธีกองข้าวที่ข้างซอยบางปลาสร้อย ประเพณีการกองข้าว ก็เริ่มจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี นี้ เป็นแห่งแรกของจังหวัดชลบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี บูรณะครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๒ ด้วยงบประมาณของเทศบาลเมืองชลบุรี เป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) บูรณะครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๒ ด้วยงบประมาณของประชาชนร่วมกันบริจาค รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน) ขอให้บารมีของเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรีจงคุ้มครองพี่น้อง ประชาชน ที่ร่วมกันบริจาคเพื่อบูรณะศาล จงมีความสุข ความเจริญ โดยทั่วถึงกันทุกคน