ประเพณีรับบัวเป็นประเพณีเก่าแก่สิบทอดกันมาแต่โบราณ ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยจัดงานทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยในสมัยก่อน อำเภอบางพลี มีประชาชนอาศัยอยู่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนไทย คนลาว และคนรามัญ (ชาวมอญพระประแดง) ทุกกลุ่มชนต่างทำมาหากินและอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเสมือนญาติมิตร
ประเพณีรับบัว เกิดขึ้นเพราะความมีน้ำใจที่ดีต่อกันระหว่างคนในท้องถิ่นกับคนมอญพระประแดงซึ่งทำนาอยู่ที่ตำบลบางแก้ว ในช่วงออกพรรษาจะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง ได้เก็บดอกบัวเพื่อบูชาพระหรือถวายแด่พระสงฆ์และฝากเพื่อนบ้าน
ในปีต่อมา ชาวอำเภอเมือง และชาวอำเภอพระประแดง ต่างพร้อมใจกันพายเรือมาเก็บดอกบัวที่อำเภอบางพลีและถือเป็นโอกาสอันดีในการนมัสการองค์หลวงพ่อโต อีกทั้งระยะทางระหว่างที่อำเภอพระประแดงกับอำเภอบางพลีไกลกันมาก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินเรือแต่ละลำจะร้องรำทำเพลงมาตลอดเส้นทาง
สำหรับการแห่หลวงพ่อโตทางน้ำในประเพณีรับบัวที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สืบเนื่องจาก พ.ศ. 2467 นางจั่นกับพวกชาวบางพลี ได้ร่วมสร้างองค์ปฐมเจดีย์ ณ วัดบางพลีใหญ่ในและจัดงานเฉลิมฉลองโดยแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ และวิวัฒนาการมาเป็นแห่องค์หลวงพ่อโตจำลองอัญเชิญไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ประชาชนได้นมัสการ ดอกไม้ที่ใช้นมัสการคือ ดอกบัว
เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและกิจกรรมด้านพุทธศาสนาช่วงวันออกพรรษา ส่งเสริมการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ชาวจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับชุมชนบางพลีจัดงานประเพณีรับบัว ประจำปี 2554 "หนึ่งเดียวในโลก แห่งเดียวในประเทศไทย" (One Traditional only of the word) นมัสการหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ ร่วมงานสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ จากอดีตสู่ปัจจุบัน ชมมหรสพสมโภช ลิเก ดนตรี ลูกทุ่งวงใหญ่ ฟรีตลอดงาน การออกร้านขายสินค้า ของกินของใช้ สินค้าต่าง ๆ มากมาย วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอบางพลี และบริเวณวัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ