วัดยางหลวง จัดเป็นวัดใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งใน อ.แม่แจ่ม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา ชาวกะเหรี่ยงหรือ ยาง เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา และสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 24 หรือในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังมีจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปหน้าซุ้มกิจกูฏ ว่า ได้มีการบูรณะเมื่อ ปี พ.ศ 2407
สิ่งที่่นาสนใจคือกู่ปราสาท หรือ กิจกูฏ ซึ่งตั้งอยู่หลังพระประธานในวิหาร คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกิจกูฏเป็นแบบพุกามจากพม่าผสมกับ ล้านนาสกุลช่างเชียงแสน งดงามมาก
วัดยางหลวง ถือได้วา เป็นอีกหนึ่งวัดคู่อำเภอแม่แจ่ม ต้องแวะมเที่ยวชม สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่
- วิหารไม้สักที่ไม่เพียงเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัยอันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
- กู่ปราสาท หรือ กิจกูฏ ตั้งอยู่หลังพระประธานซึ่งคนโบราณเชื่อกันว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ กู่ปราสาทนี้เป็นศิลปะ แบบพุกามผสานกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน และผนังด้านหลังพระวิหารปรากฏ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามอย่างยิ่ง โดยประกอบด้วยภาพพระภิกษุสามรูป ซึ่งเชื่อกันว่า คือพระพุทธเจ้าและพระสาวก
- ด้านข้างพระวิหารเป็นสถานที่เก็บกลองล้านนาขนาดใหญ่ เพื่อไว้ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
- เงาพระวิหารกลับหัว ซึ่งจะเห็นภาพนี้ได้โดยการเข้าไปชมในพระอุโบสถ แล้วปิดไฟ ปิดประตูหน้าต่าง ทุกบาน เพื่อให้ด้านในมืดสนิท แง้มหน้าต่างให้แสงลอดผ่านขอบหน้าต่างที่ได้องศาที่สุด เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นเงาของพระวิหารอันน่าตื่นตา
- พิธีจุลกฐินที่มักจัดในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งในงานจะมีการเตรียมไร่ฝ้ายที่ลานวัด ตกแต่งไร่ฝ้าย เพื่อนำมาทอผ้าที่ใช้ในพิธี อีกทั้งยังมีฟ้อนรำ การละเล่นต่าง ๆ สนุกสนานครื้นเครง